วัดพะโคะ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด

หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หรือสมเด็จพะโคะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวสงขลา นับเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับชาวพื้นที่มาอย่างยาวนาน ประดิษฐานอยู่ที่วัดราชประดิษฐานชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า วัดพะโคะ มีประวัติความเป็นมาอันน่าเลื่อมใสมากมาย แต่ที่ทำให้ท่านได้ชื่อว่าหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด คือ

ในสมัยก่อนมีโจรสลัดแล่นเรือมาเทียบท่าตามชายฝั่ง ทำให้ชาวบ้านแตกตื่นและกลัวกันเป็นอย่างมาก โจรสลัดจีนเหล่านั้นเห็นสมเด็จพะโคะแล้วรู้สึกอยากจะลองของลองวิชาท่าน จึงได้จับท่านขึ้นเรือไป เมื่อเรือออกจากท่าไม่นานจู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดขึ้น คือเรือของโจรสลัดหยุดนิ่งไม่สามารถเคลื่อนไปไหนได้เลย พวกโจรสลัดจีนพยายามหาทางแก้ไขเต็มที่แต่ก็ไม่เป็นผล ติดอยู่กลางทะเลเป็นเวลาหลายวันจนน้ำที่ใช้บริโภคบนเรือหมด ท่านเห็นแล้วรู้สึกสงสารจึงยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเลเกิดเป็นประกายโชติช่วง แล้วสั่งให้โจรสลัดตักน้ำตรงนั้นดื่มดู พวกโจรสลัดจีนแม้จะไม่เชื่อแต่ก็ยอมตักน้ำมาดื่มเพราะหาทางออกอื่นไม่ได้ ปรากฎว่าน้ำทะเลตรงนั้นกลายเป็นน้ำจืด ทำให้โจรสลัดรีบขอขมาท่านแล้วพาท่านขึ้นฝั่งทันที ทำให้ชาวบ้านทั้งหลายเลื่อมใสศรัทธาและเรียกท่านว่า หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด มาจวบจนถึงทุกวันนี้

วัดพะโคะ ตั้งอยู่ที่บริเวณเชิงเขาพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ล้อมรอบไปด้วยชุมชนชุมพลและชุมชนดีหลวง แต่เดิมวัดแห่งนี้จะเป็นที่รู้จักกันเฉพาะแค่คนในพื้นที่ ชาวบ้านทั้ง 2 ชุมชนจึงร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาชุมชนและวัดเพื่อต่อยอดเป็นเส้นทางในการท่องเที่ยววิถีชุมชน ให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้ามาไหว้ สักการะบูชาหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ทั้งยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย

เส้นทางการท่องเที่ยววิถีชุมชน

            เป็นการท่องเที่ยววิถีชุมชนภายใต้คอนเซ็ปต์ ท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวดได้เส้นทางจะผ่านจุดที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่

วัดถ้ำคูหาสวรรค์

            ขึ้นชื่อว่าเป็นถ้ำขุดโบราณ แห่งแรกในประเทศไทยที่มีอายุมากว่าหนึ่งพันปีแล้ว ที่นี่ได้รับการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย บ่งบอกถึงการได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมมาจากอินเดีย ทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธนิกายมหายาน เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบในเรื่องของประวติด้านศาสนาเป็นอย่างมาก

ตระพังพระ

คือสระน้ำโบราณขนาดใหญ่มีดอกบัวอยู่เต็มสระ ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาเยี่ยมชมและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก  ทั้งยังเป็นสถานที่ค้นพับวัตถุโบราณ ได้แก่ ประติมากรรมรูปพระอคัตตยะ และประติมากรรมรูปนางตารางสี่กร ซึ่งปัจจุบันได้นำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา

วัดต้นเลียบ

            เล่าลือกันว่าที่นี่เป็นสถานที่ฝังรกของ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเล ใต้ต้นเลียบ ชาวบ้านจึงบูรณะที่ดินแห่งนี้ให้กลายเป็นวัดต้นเลียบในเวลาต่อมา และจัดแต่งสถานที่ไว้สำหรับคนมาเยี่ยมชมและไหว้สักการะอย่างสวยงาม

สำนักสงฆ์นาเปล

               มีงานประติมากรรมงูตัวใหญ่กำลังคายลูกแก้วให้ทารกที่อยู่ในเปล สอดคล้องกับเรื่องเล่าสมัย หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเล ยังเป็นเด็ก โดยบิดามารดาของท่านพาท่านมาผูกเปลนอนไว้ที่ปลายนา แล้วเกิดงูจงอางยักษ์มาทิ้งลูกแก้วไว้บนเปล ซึ่งต่อมาลูกแก้วนั้นได้เป็นสิ่งศักดิ์ประจำตัวของท่าน

วัดดีหลวง

               เป็นสถานที่ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวโยงกับหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเล สร้างโดยช่างท้องถิ่น ภายในจะมีวัตถุโบราณมากมายจัดแสดงไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม

ศาลาอธิการแก้ว พุทธมณี

               ตั้งอยู่ในบริเวณภายในวัดดีหลวง เป็นงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีกหนึ่งหลัง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2458 ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่ชำรุดหรือเสียหาย เป็นจุดไหว้สักการะและเดินซื้อสินค้าที่ระลึก

วัดพะโคะ

               เป็นวัดที่หลวงปู่ทวด,ได้บำรุงรักษาจนรุ่งเรือง และยังเป็นสถานที่เก็นลูกแก้วศักดิ์สิทธิ์ของท่านไว้อีกด้วย นับเป็นสถานที่ที่ห้ามพลาดอย่างเด็ดขาดเลยทีเดียว

กลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนด “ดาวราย” บ้านคลองฉนวน

ปิดท้ายทริปท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวดฯกันด้วยการเยี่ยมชมกรรมวิธีการผลิตน้ำตาลโตนดแปรรูปเป็นของฝากของชาวบ้าน เช่น น้ำตาลโตนดผง และน้ำตาลแว่นเป็นต้น ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมและศึกษากระบวนการทำได้ตลอด

Top